มารยาทการใช้กิริยาวาจา

มารยาทการใช้กิริยาวาจา

มารยาททางวาจา

    มารยาททางวาจาก็คือบุลิกภาพที่ปรากฏในสังคมที่เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำสำเนียงต่อบุคคลทั่วไป เช่นการใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ไม่พูดเหยียดหยามผู้อื่น การใช้ว่าคำว่ากรุณาเมื่อต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น การกล่าวคำขอโทษเมื่อทำผิดพลาด  การกล่าวคำขอบคุณเมื่อได้รับความช่วยเหลือ  ไม่ส่งเสียงดังก่อความรำคาญ  ไม่พูดจาโอ้อวดตนเอง ใช้สำเนียงการพูดที่นุ่มนวลเป็นกันเอง ฝึกใช้คำราชาศัพท์และใช้เมื่อโอกาสเหมาะสม

มารยาทการเเนะนำ

    การแนะนำตัวและการแนะนำให้ผู้อื่นรู้จักกันถือเป็นมารยาททางสังคมแบบหนึ่ง ดังนั้นจึงควรทราบวิธีการแนะนำที่เหมาะสม  เช่น เมื่อต้องการแนะนำบุรุษแก่สตรีที่มีวัยอาวุโสใกล้เคียงกัน ควรใช้ว่า คุณคัทลิยาคะ อนุญาตให้ดิฉันแนะนำ ร้อยตำรวจโทพิชิต ปราบไพรพาล สารวัตรประจำสถานีตำรวจบางเขน แก่คุณคะ   และแนะนำให้ฝ่ายบุรุษรู้จักฝ่ายสตรี  คุณคัทลิยา ราชาวดี ประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                การแนะนำสตรีต่อสตรี การแนะนำบุคคลเพศเดียวกันให้รู้จักกัน ต้องยึดถือความอาวุโสเป็นสำคัญ เช่นแนะนำเพื่อนให้รู้จักมารดา จะต้องแนะนำว่า เจี๊ยบจ๋า นี่คุณแม่ของเรา จากนั้นจึงแนะนำให้คุณแม่รู้จัก เจี๊ยบว่าเป็นเพื่อนที่มหาวิทยาลัย คือแนะนำให้ผู้น้อยรู้จักผู้ใหญ่ก่อน

                การแนะนำบุรุษแก่บุรุษ ก็ใช้หลักการเดียวกันคือแนะนำให้ผู้น้อยรู้จักผู้ใหญ่ก่อน หรือถ้าอายุใกล้เคียงกันก็แนะนำกลางๆเช่น ขออนุญาตแนะนำให้คุณสองคนรู้จักกัน  คุณสมบูรณ์ พูนสุข ประธานบริษัทอุดมสมบูรณ์  คุณสดใส สว่างจ้า ผู้จัดการบริษัทแสงสว่างเรืองรองจำกัด

มารยาทการสนทนา

    การสนทนาที่มีมารยาทมีหลักดังนี้ ในกรณีที่เพิ่งรู้จักกันไม่ควรถามถึงเรื่องส่วนตัว ควรเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ไม่พูดถึงแต่เรื่องส่วนตัวของตนเอง  อย่าบ่นเรื่องเคราะห์กรรมและความต่ำต้อยของตนเองเพราะจะทำให้ผู้อื่นดูถูกได้  อย่าอวดร่ำรวยหรือความมีอำนาจเพราะเป็นการข่มผู้อื่น ไม่พูดถึงเรื่องในครอบครัวให้ผู้อื่นฟัง ไม่ควรพูดว่าเกลียดหรือรักชอบใคร  ไม่นำปมด้อยของผู้อื่นมาล้อเลียน ไม่พูดจาสัปดนหรือลามก  ไม่ตำหนิติเตียนพ่อแม่หรือผู้ที่ควรเคารพ ไม่ปฏิเสธความหวังดีของผู้รู้จัก และไม่พูดขัดคอผู้อื่นจนเกินควร


0 ความคิดเห็น: