การแสดงความเคารพ,เข้าพบผู้ใหญ่,ส่งและการรับของ,วิธีประเคนของพระ


การแสดงความเคารพ
            การแสดงความเคารพระหว่างบุคคลนอกจากเคารพพระดังกล่าวแล้วในตอนต้นของบทนี้มีวิธีปฏิบัติดังนี้
          ๑.  การแสดงความเคารพระหว่างบุคคล  เมื่อยืนอยู่แสดงความเคารพกันได้หลายแบบ  เช่น  ในกรณีแต่เครื่องแบบสวมหมวก  ใช้ “วันทยหัตถ์”  ถ้าแต่งเครื่องแบบแต่ไม่สวมหมวกใช้การ  ก้มศีรษะ  ในกรณีไม่ได้แต่งเครื่องแบบแต่มีหมวก  เฉพาะชายใช้การ  เปิดหมวก  ส่วนหญิงจะสวมหมวกหรือไม่ก็ตามใช้  การไหว้  โดยไม่ต้องถอดหมวกแม้จะสวมหมวกอยู่  ชายถ้าจะใช้การไหว้ก็ควรจะถอดหมวกเสียก่อน  หรือไม่ได้สวมหมวกก็ใช้  การไหว้
              การแสดงความเคารพเมื่อนั่งอยู่กับพื้น  ถ้าผู้ที่จะเคารพเป็นผู้อาวุโสพอสมควรก็นั่งพับเพียบ  เก็บเท้ายกมือไหว้  พร้อมกับน้อมตัวก้มศีรษะ
               การแสดงความเคารพเมื่อนั่งอยู่กับพื้น  ถ้าผู้ที่จะเคารพมีอาวุโสน้อย  ก็หันไปไหว้ธรรมดา  ถ้าผู้ที่จะเคารพมีอาวุโสมาก  ก็หันไปน้อมตัวไหว้แล้วควรนั่งประสานมือ  ในกรณีผู้ที่จะทำความเคารพยังไม่ได้นั่งเก้าอี้  ก็เดินไปนั่งเก้าอี้เสียก่อนแล้วจึงไหว้
           ๒.  การถวายความเคารพพระมหากษัตริย์และพระมเหสี  ตามประเพณีไทยแต่โบราณใช้การถวายบังคม  ซึ่งยังคงใช้อยู่มาจนปัจจุบัน  ทำได้ทั้งชายและหญิง  แต่โอกาสที่หญิงจะถวายบังคมมีน้อย  เพราะโดยมากใช้วิธีกราบ  การถวายบังคมมีวิธีการดังนี้
                ๑.  นั่งคุกเข่า  ยกอก  วางมือคว่ำลงบนหน้าขา  สำหรับชายแยกเข่าเล็กน้อย  อย่าให้ถึงกับเป็นแบบผายเข่า  สำหรับหญิงให้นั่งพองาม  นั่งบนส้นเท้าปลายเท้าตั้ง  มือทั้งสองวางคว่ำที่หน้าขา  ยกตัวตั้งตรง  อย่าห่อไหล่  หรือยกไหล่
                ๒.  ยกมือขึ้นประนมตรงระหว่างทรวงอก  แล้วทอดมือที่ประนมนั้นไปข้างหน้าให้ปลายมือต่ำลงระดับท้องแต่ไม่ถึงห้อย  พร้อมกับโน้มตัวไปข้างหน้า  แล้วยกปลายมือกลับขึ้นจนหัวแม่มือทั้งสองจรดหน้าผาก  ลำตัวเฉพาะเหนือเอวเอนไปข้างหลัง  ชายเอนมากกว่าหญิง  หน้าเงยขึ้นให้ตาอยู่ระดับนิ้วหัวแม่มือ  ระดับของลำตัว  ในขณะมืออยู่ในระดับจรดหน้าผากจะต้องเอนเล็กน้อยไม่ใช่ตั้งตรง  แต่ไม่ใช้เอนจนหงาย  หรือหงายแค่คอ  ท่าเอนนี้ลำตัวจะโค้งเล็กน้อย ศอกจะถ่างออก
                ๓.  ลดมือลงพร้อมกับโน้มตัวกลับไปข้างหน้า  ให้มือลงมาถึงระดับหน้าท้อง ปลายมือต่ำ
                ๔.  ยกปลายมือขึ้นในท่าประนม  ปลายมือตั้งพร้อมกับเลื่อนมือขึ้นสู่ระดับอก  และยกตัวขึ้นตรง  ทำเช่นนี้สามครั้ง  แล้วเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่าหมอบ อนึ่ง  การถวายความเคารพนี้  ถวายความเคารพเฉพาะพระพักตร์  หรือระยะใกล้พระพักตร์พอสมควร  เมื่อถวายความเคารพตอนเสด็จผ่านแล้ว  ตอนเสด็จผ่านอีกไม่ต้องกราบแต่ควรอยู่ในอาการสุภาพ

การเข้าพบผู้ใหญ่  การส่งและการรับของ
      การเข้าพบผู้ใหญ่  และการส่งของรับของเป็นมารยาทที่ทุกคนต้องทราบและปฏิบัติให้ถูกต้องกับบุคคล  แลโอกาส  ซึ่งมีรายละเอียด  ดังนี้
           ๑.  การเข้าพบผู้ใหญ่  ถ้าผู้ใหญ่ยืนอยู่ให้ผู้เข้าพบเดินอย่างสุภาพเข้าไปใกล้พอสมควร  (อย่าให้ตรงหน้าผู้ใหญ่นัก)  ไหว้แล้วยืนสำรวมมือประสานกัน  ถ้าผู้ใหญ่นั่งอยู่ที่เก้าอี้  ให้เดินอย่างสุภาพ  เมื่อใกล้ผู้ใหญ่ให้ไหว้  แล้วนั่งเก้าอี้  อย่านั่งเก้าอี้ตรงหน้าผู้ใหญ่ทีเดียว  หรือจะเดินเข้าไปอย่างสุภาพไปนั่งเก้าอี้แล้วหันมาไหว้
                การเข้าพบผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่กับพื้น  ให้เดินเข้าไปอย่างสุภาพ  เมื่อเข้าไปในระยะพอสมควรแล้ว  ลงคลานลงมือเข้าไปใกล้พับเพียบเก็บเท้า  ถ้าเป็นผู้อาวุโสน้อยใช้ไหว้แล้วนั่งแบบนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่  ถ้าเป็นผู้อาวุโสมากใช้กราบแล้วนั่งลงศอกหรือหมอบ
            ๒.  การส่งของให้ผู้ใหญ่  เมื่อผู้ส่งและผู้รับนั่งบนเก้าอี้ด้วยกัน  ผู้ส่งก็น้อมตัวลงให้ด้วยมือขวาถ้าของไม่หนัก  ถ้าเป็นของหนักก็ควรน้อมตัวส่งด้วยมือทั้งสอง  ถ้าผู้รับนั่งอยู่บนเก้าอี้  ผู้ส่งเดินเข้ามายืนระยะห่างพอสมควร  แล้วโน้มตัวส่งให้  แต่ถ้าผู้ใหญ่อาวุโสมากผู้ส่งอาจเข้าไปนั่งคุกเข่าให้ก็จะน่าดูขึ้น  การส่งของให้ผู้ใหญ่ที่นั่งกับพื้น  ผู้ส่งควรเดินเข้าไประยะพอสมควรแล้วลงนั่งพับเพียบหรือเดินเข้าไปใกล้พอสมควรแล้วคลานเข้าไปนั่ง  ส่งของให้แล้วไหว้  หรือวางของลงก่อนแล้วไหว้  แล้วยกของไหว้
          ๓.  การแจกของชำร่วย  ตามปกติของชำร่วยจะวางไว้บนพานหรือถาด  ผู้แจกจับภาชนะสองมือ  ถ้าเป็นพานก็จับที่คอพาน  แล้วยื่นพานให้ผู้รับแจกหยิบเอาเอง  อย่าหยิบส่งเว้นแต่แจกของชำร่วยในงานมงคลสมรส  ซึ่งเจ้าบ่าวเป็นผู้ถือพานใส่ของชำร่วยและให้เจ้าสาวหยิบของชำร่วยให้  โดยย่อตัวเล็กน้อยหรือย่อลงเข่าข้างเดียว  หรือนั่งลงเข่าทั้งสองข้าง  หรือนั่งพับเพียบตามแต่ผู้รับจะนั่งอยู่บนเก้าอี้หรือพื้น  หรือมีอาวุโสอย่างไร  แล้วหยิบของชำร่วยส่งให้ผู้รับ
            ๔.  การรับของจากพระสงฆ์  ถ้าในขณะที่พระสงฆ์ยืนอยู่หรือนั่งในที่สูงให้ผู้รับเดินเข้าไปด้วยกิริยาอาการสำรวม  เมื่อได้ระยะพอสมควร  ให้ยืนตรง  น้อมตัวลงไหว้และยื่นมือทั้งสองเข้าไปรับพร้อมกับน้อมตัวลงเล็กน้อย  สำหรับชายรับของจากมือท่านได้  แต่สำหรับหญิงให้แบมือทั้งสองชิดกันคอยรองรับสิ่งของที่ท่านจะปล่อยลงในมือให้  เมื่อรับสิ่งของแล้ว  ถ้าสิ่งของเล็กนิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้พร้อมกับสิ่งของในมือ  ถ้าสิ่งของที่รับนั้นใหญ่หรือหนัก  ก็ไม่ต้องไหว้  รับแล้วค่อยหันตัวกลับเดินไปได้
             ถ้าในขณะที่พระสงฆ์นั่งเก้าอี้  ให้ผู้รับเดินเข้าไปด้วยอาการสำรวม  เมื่อเข้าไปใกล้พอสมควรให้ยืนตรงแล้วนั่งคุกเข่าข้างซ้ายชันเข่าขวา  น้อมตัวลงยกมือไหว้  แล้วยื่นมือทั้งสองออกไปรับของเช่นที่กล่าวมาแล้ว  เมื่อรับของแล้วถ้าของนั้นเล็กก็น้อมตัวลงไหว้พร้อมกับของนั้นอยู่ในมือ  ถ้าเป็นของใหญ่หรือของหนัก  นิยมวางของนั้นไว้ข้างตัวด้านซ้ายมือ  น้อมตัวลงไหว้แล้วยกของนั้นด้วยมือทั้งสองประคองขึ้น  ลุกขึ้นยืนหันหน้ากลับเดินไปได้


การรับของที่ระลึก จากพระสงฆ์ (ชาย)
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค พรไชยะสิทธิ์


การรับของที่ระลึก จากรพะสงฆ์ (หญิง)
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค พรไชยะสิทธิ์

            ถ้าในขณะพระสงฆ์นั่งกับพื้น  ให้เดินเข้าไปด้วยกิริยาสำรวม  เมื่อใกล้อาสนะที่พระสงฆ์นั่งอยู่พอสมควร  นั่งคุกเข่าลงแล้วเดินเข่าหรือคลานเข้าไปจนได้ระยะรับของแล้วนั่งคุกเข่าสำหรับชายหรือนั่งพับเพียบสำหรับหญิง  กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์  ๓  หน  แล้วยื่นมือทั้งสองไปรับของแบบที่กล่าวมาแล้ว  เมื่อรับของแล้ว  นิยมวางของนั้นไว้ข้างตัวด้านขวามือ  กราบ  ๓  หน  แล้วหยิบของนั้นด้วยมือทั้งสองประคองเดินเข่าถอยหลังไป  จนห่างพอสมควรแล้วลุกขึ้นยืนหันเดินกลับได้

          ๕.  การรับของพระราชทานจากผู้อื่น  ซึ่งเป็นประธานในงาน  ในการรับของพระราชทาน  ซึ่งผู้เป็นประธานในงานเป็นผู้มอบ  โดยมากตั้งโต๊ะบูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์เสมอ  ผู้รับจึงถือเสมือนรับพระราชทานจากองค์พระมหากษัตริย์  เมื่อเข้าไปรับถวายคำนับพระบรมรูปก่อน  แล้วรับจากผู้มอบโดยไม่ต้องทำความเคารพผู้มอบ  เวลารับควรนั่งย่อเข่าข้างหนึ่งรับ  เมื่อรับแล้วผู้รับหันหน้าไปทางพระบรมรูปถวายคำนับ  เดินถอยหลังประมาณ  ๓  ก้าว  แล้วจึงกลับตัวเดินเข้าที่  ในการรับไม่ต้องทำ  “เอางาน”  แต่เมื่อรับแล้วต้องเชิญของเหมือนกับรับพระราชทานจากพระหัตถ์


วิธีประเคนของพระ  
             การประเคนของพระ  คือ  การถวายของให้พระได้รับถึงมือ  ของที่ประเคนนั้นต้องเป็นของที่คนเดียวพอยกได้อย่างธรรมดา
ไม่ใช่ของหนัก  หรือใหญ่โตจนเกินไป  ไม่มีวัตถุอนามาส  คือ  เงิน  ทอง  หรือของกะไหล่ด้วยเงินแท้หรือทองแท้ปนอยู่ด้วย
เพราะเป็นของไม่เหมาะแก่ภาวะของพระที่จะรับได้และถ้าเป็นของเคี้ยวของฉัน  ต้องประเคนได้เฉพาะในกาล  นอกกาล  คือ  เวลาวิกาล
ตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงย่ำรุ่งวันใหม่  ไม่ควรนำมาประเคน  วิธีประเคนนั้น  พึงปฏิบัติดังนี้
             วิธีประเคน  สำหรับชายและหญิง  พึงปฏิบัติต่างกันดังนี้
             สำหรับชาย  พึงนั่งคุกเข่าหรือยืนตามความเหมาะสมแก่สถานที่  คือ  ถ้าพระนั่งเก้าอี้  พึงยืน  ถ้าพระนั่งกับพื้น  พึงนั่งคุกเข่า
ยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสอง  น้อมสิ่งของนั้นเข้าไปใกล้พระผู้รับประเคน  ยกให้พ้นจากพื้น  ส่งถวายถึงมือพระผู้รับประเคน
ถ้าสิ่งของนั้นมีหลายถ้วยจัดมาถวายองค์ละถ้วย  ให้หยิบถวายที่ละถ้วย  ไม่นิยมถวายด้วยการยกถวายทั้งหมดโดยให้พระท่านยกเอาเอง
เมื่อถวายเสร็จแล้ว  พึงไหว้หรือกราบด้วยการแสดงความเคารพทุกครั้ง
             สำหรับหญิง  พึงยืนหรือนั่งพับเพียบตามความเหมาะสมแก่สถานที่ดังกล่าวแล้ว
แล้วยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสองน้อมเข้าไปใกล้พระผู้รับประเคนพอสมควร
วางบนผ้าที่พระทอดรับประเคนนั้นจะส่งถวายให้ถึงมือพระแบบชายถวายไม่ได้  และระวังรอให้พระจับชายผ้าทอดรับประเคนนั้นเสียก่อน
จึงวางสิ่งของที่จะประเคนลงบนผืนผ้านั้น  เมื่อถวายเสร็จแล้วพึงไหว้หรือกราบเป็นการแสดงความเคารพทุกครั้ง
             ข้อควรระวัง  สิ่งของที่ประเคนแล้วนั้นห้ามฆราวาสไปจับต้อง  หากฆราวาสไปจับต้องถือว่าเป็นการขาดประเคน 
ต้องประเคนสิ่งของนั้นเสียใหม่  จึงจะไม่เกิดโทษแก่พระสงฆ์
              ลักษณะการประเคนของพระที่ถูกต้อง  มีดังนี้
              ๑.  ของที่ประเคนพระนั้นต้องไม่ใหญ่โต  หรือหนักเกินไป  พอคนขนาดปานกลางยกคนเดียวได้และต้องยกของนั้นให้พ้นที่ของนั้นวางอยู่
              ๒.  ผู้ประเคนต้องเข้ามาในหัตถบาส  คือผู้ประเคนต้องอยู่ห่างจากพระผู้รับประเคนประมาณ  ๑  ศอก
              ๓.  ผู้ประเคนน้อมสิ่งของนั้นเข้ามาให้ด้วยอาการแสดงความเคารพ
              ๔.  กิริยาที่น้อมสิ่งของเข้าให้นั้นจะส่งให้ด้วยก็ได้  หรือจะตักส่งให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย  เช่น  ใช้ทัพพีตักถวายก็ได้
              ๕.  พระภิกษุผู้รับประเคน  จะรับด้วยมือก็ได้  จะเอาผ้าทอดรับก็ได้  หรือจะเอาภาชนะรับ  เช่น
เอาบาตรหรือจานรับสิ่งของที่เขาตักถวายก็ได้
                   การประเคนที่ประกอบด้วยลักษณะ  ๕  ประการนี้  จึงจะถูกต้องตามพระพุทธานุญาตไม่เกิดโทษแก่พระสงฆ์
หลักสำคัญของการประเคนนี้  ต้องแสดงออกด้วยความเคารพ  ไม่ใช่เสือกไสให้หรือทิ้งให้โดยไม่เคารพ
(กรมการศาสนา, ๒๕๔๕, หน้า ๒๑๗ – ๒๒๒)

 
การเดินเข่าประเคนของแด่พระสงฆ์  (ชาย)
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค  พรไชยะสิทธิ์

 
การเดินเข่าประเคนของแด่พระสงฆ์  (หญิง)
ที่มา : ภาพโดย ศุภโชค  พรไชยะสิทธิ์

1 ความคิดเห็น: