หน้าที่ชาวพุทธและมารยาท

หน้าที่ชาวพุทธและมารยาทชาวพุทธ

หน้าที่ชาวพุทธ และมารยาทชาวพุทธ
1. หน้าที่ชาวพุทธ
ชาวพุทธ มีหน้าที่มากมายหลายประการที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ ปฏิบัติ เพื่อที่จะรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อทำนุบำรุงอุปถัมภ์ สืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป
1.1 หน้าที่และบทบาทของพระภิกษุสามเณร
พระนักเทศน์ ได้แก่ พระภิกษุที่ปฏิบัติหน้าที่สอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยการแสดงธรรม (เทศน์) และจะต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นพระนักเทศน์ตามหลักสูตรของมหาเถรสมาคมแต่งตั้ง มี 2 ประเภท คือ
1. พระนักเทศน์แม่แบบ หมายถึง พระนักเทศน์ที่ผ่านการอบรมจากคณะกรรมการฝึกอบรมพระนักเทศน์ที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง
เพื่อไปจัดอบรมพระนักเทศน์ประจำจังหวัด
2. พระนักเทศน์ประจำจังหวัด หมายถึง พระนักเทศน์ที่ผ่านการอบรมปฏิบัติหน้าที่เทศน์ภายในจังหวัดที่สังกัดหรือสถานที่ที่ทายกอาราธนา
นอกจากนั้น พระภิกษุทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถ ก็สามารถเป็นพระนักเทศน์ได้ โดยให้การสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และ
ต้องมีความรู้ทางด้านธรรมเป็นอย่างดียิ่ง
พระธรรมทูต (อ่านว่า -ทำมะทูด) พระธรรมจาริก หมายถึงภิกษุที่เดินทางไปแสดงธรรมในที่ต่างๆ ทำหน้าที่เหมือนทูตทางธรรมหรือทูตของพระศาสนา
พระธรรมทูตเริ่มมีครั้งแรกเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจนมีพระสาวกมากรูปแล้วจึงส่งพระสาวกเหล่านั้นไปประกาศธรรมในทิศต่างๆ โดยตรัสว่า “เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชุมชน เพื่ออนุเคราะห์แก่ประชุมชน” ดังนี้เป็นต้น
พระธรรมจาริก มีความหมายเดียวเช่นเดียวกันกับพระธรรมทูต แต่เป็นคำบัญญัติที่เกิดที่หลังคำว่าพระธรรมทูต
ปัจจุบันแบ่งพระธรรมทูตออกเป็น 2 ประเภทคือ พระธรรมทูตในประเทศ กับ พระธรรมทูตต่างประเทศ
1.2 การปฏิบัติตนตามหลักทิศเบื้องล่างในทิศ 6
ทิศเบื้องล่าง ลูกจ้าง บุคคลที่ต่ำกว่า ลูกจ้างเปรียบเสมือนทิศเบื้องล่าง ที่นายจ้างต้องแสดงความกตัญญูต่อลูกจ้างเพราะลูกจ้างทำกิจการงานต่างๆให้ สำเร็จประโยชน์ ในขณะเดียวกันลูกจ้างก็ต้องแสดงความกตัญญูต่อนายจ้างในฐานะของผู้อุปการะคุณ ดังนี้
หน้าที่ของนายจ้างพึงมีต่อลูกจ้าง หน้าที่ลูกจ้างพึงมีต่อนายจ้าง
1.จัดงานให้ทำตามความเหมาะสม
2.ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งาน
3.จัดให้มีสวัสดิการที่ดี
4.มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
5.ให้มีวันหยุด และพักผ่อนหย่อนใจ ตามโอกาสอันควร
1.เริ่มทำงานก่อน
2.เลิกงานทีหลัง
3.เอาแต่ของที่นายให้
4.ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
5.นำความดีของนายงานและกิจการไปเผยแพร่
2. หน้าที่ชาวพุทธ
2.1 การปฏิสันถารที่เหมาะสมต่อพระภิกษุในโอกาสต่าง ๆ
การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ในที่สาธารณะเนื่องจากพระสงฆ์อยู่ในฐานะที่ควรเคารพของชาวพุทธชาวพุทธจึงควรเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ดังต่อไปนี้
1) เวลาพบปะในสถานที่ต่าง ๆ เวลาพบปะพระสงฆ์ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ตามถนน บนรถโดยสาร หรือสถานที่ต่าง ๆ พึงปฏิบัติดังนี้
1.1) แสดงความเคารพ ด้วยการประนมมือ (อัญชลี) ไหว้ (วันทา หรือนมัสการ) กราบ (อภิวาท) หรือลุกขึ้นยืนรับ (ปัจจุคมน์) ตามสมควรแก่โอกาสและสถานที่
1.2) ไม่พึงนั่งบนอาสนะ (ที่นั่ง) เดียวกับพระภิกษุ ถ้าจำเป็นต้องนั่ง ก็พึงนั่งด้วยอาการเคารพสำรวม
1.3) สำหรับสตรี จะนั่งบนม้ายาวหรือเก้าอี้ยาว เช่น ที่นั่งในรถโดยสาร รถไฟ เป็นต้น ไม่ได้โดยเด็ดขาด แม้จะนั่งคนละมุมก็ตาม ในกรณีที่จำเป็น จะต้องมีบุรุษมานั่งคั่นกลางให้
1.4) ในห้องประชุมที่มีพระสงฆ์เข้าร่วมด้วย เช่น ในการฟังปาฐกถา การบรรยาย ถึงจัดให้ท่านนั่งแถวหน้า ถ้าจัดที่นั่งให้สูงกว่าคฤหัสถ์ได้ยิ่งเป็นการดี
1.5) บนเรือหรือบนรถโดยสาร เป็นต้น เมื่อเห็นพระภิกษุขึ้นมา พึงลุกให้ที่นั่งแก่ท่านด้วย

2) การถวายภัตตาหารและปัจจัยที่สมควรแก่สมณะ การถวายภัตตาหารและปัจจัยที่สมควรแก่สมณะ พึงปฏิบัติดังนี้
2.1) เวลาใส่บาตร พึงถอดรองเท้า ตักข้าวและอาหารใส่บาตรด้วยความเคารพแล้วย่อตัวลงไหว้
2.2) เมื่อถวายอาหาร หรือเครื่องอุปโภคแก่พระภิกษุ พึงประเคน คือยกของให้ท่านภายใน “หัตถบาส” (ระยะบ่วงมือ คือ ห่างประมาณหนึ่งศอก)
2.3) เมื่อนำของไปถวายพระภิกษุหลังเที่ยง ไม่พึงประเคนให้ท่าน ถึงวางไว้เฉย ๆ หรือให้ศิษย์วัดนำไปเก็บไว้ต่างหาก (การปฏิบัติเช่นนี้เพื่อมิให้ท่านละเมิดข้อบัญญัติว่าด้วยการสะสมอาหาร)
2.4) เมื่อจะถวายปัจจัย (เงิน) ไม่พึงประเคนให้ท่าน พึงถวายเฉพาะใบปวารณามอบเงินให้ไวยาวัจกรหรือศิษย์วัด ในกรณีที่ไม่มีไวยาวัจกรหรือศิษย์วัด พึงเอาปัจจัยใส่ซองใส่ลงในย่ามให้ท่านเอง
2.5) เวลานิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านตน ไม่พึงระบุชื่ออาหาร
2.6) ถ้าจะนิมนต์พระสงฆ์ไปรับสังฆทาน ไม่พึงเจาะจงภิกษุผู้รับ เช่น ขอนิมนต์ท่านเจ้าคุณพร้อมพระสงฆ์อีกห้ารูปไป
รับสังฆทาน เป็นต้น
3) เวลาสนทนากับพระสงฆ์หรือฟังโอวาทการสนทนาหรือฟังโอวาทกับพระสงฆ์ ควรปฏิบัติดังนี้
3.1) ใช้สรรพนามให้เหมาะสม คือใช้สรรพนามแทนผู้ชายว่า “ผม, กระผม” ผู้หญิงใช้คำว่า “ดิฉัน”
3.2) ใช้สรรพนามแทนท่านว่า “พระคุณเจ้า, หลวงพ่อ, ท่านพระครู, ท่านเจ้าคุณ, ใต้เท้า, พระเดชพระคุณ” ตามควรแก่กรณี
3.3) เวลารับคำ ผู้ชายใช้คำว่า “ครับ, ขอรับ” ผู้หญิงใช้คำว่า “ค่ะ, เจ้าค่ะ”
3.4) เวลาพระท่านพูด พึงตั้งใจฟังโดยความเคารพ ไม่พึงขัดจังหวะหรือพูดแทรกขึ้นมาในระหว่างที่ท่านกำลังพูดอยู่
3.5) เวลาท่านให้โอวาทหรืออวยพร พึงประนมมือฟังโดยเคารพ
3.6) เวลารับไตรสรณคมน์ และรับศีล พึงว่าตามด้วยเสียงดัง ไม่พึงนั่งเงียบเฉย ๆ
3.7) เวลาฟังพระสวด เช่น สวดเจริญพุทธมนต์ สวดศพ เป็นต้น พึงประนมมือฟังด้วยความเคารพ ไม่คุยกันหรือทำอย่างอื่นในระหว่างที่ท่านกำลังสวด
พระสงฆ์ คือผู้สละความสุขหรือวิธีการดำเนินชีวิตแบบฆราวาสเข้ารับการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า นำมาเผยแผ่แสดงแก่พุทธศาสนิกชน เพราะฉะนั้น เราจึงควรประพฤติปฏิบัติต่อพระสงฆ์ให้ถูกต้องเหมาะสมตามมารยาทที่พึงปฏิบัติ ดังนี้
การเดินสวนกับพระสงฆ์ เมื่อเดินสวนกับพระสงฆ์ ควรหลีกติดข้างทางด้านซ้ายมือของพระสงฆ์ ยืนตรง เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านหน้าให้น้อมตัวลงไหว้ หากท่านพูดด้วย ควรประนมมือพูดกับท่านด้วยกิริยาอาการอันสำรวม หากท่านไม่พูดด้วยควรยกมือไหว้แล้วลดมือลง
เมื่อท่านเดินผ่านไป
การเดินผ่านพระสงฆ์ หากพระสงฆ์ยืนอยู่ให้น้อมตัวลงไหว้ แล้วเดินก้มตัวหลีกไป หากพระสงฆ์นั่งอยู่ ให้คลานลงมือทั้งสองข้างเมื่อถึงตรงหน้าพระสงฆ์ให้ก้มลงกราบหรือประนมมือไหว้ตามที่สถานที่จะเอื้ออำนวยแล้วคลานลงมือผ่านไป
การเดินตามพระสงฆ์ ให้เดินตามหลังพระสงฆ์โดยเยื้องไปทางซ้ายของท่าน ระยะห่างประมาณ 2-3 ก้าว และเดินด้วยอาการสำรวมกิริยาให้เรียบร้อย
การสนทนากับพระสงฆ์ เมื่อกำลังสนทนากับพระสงฆ์ ควรประนมมือในขณะที่พูดกับท่าน ไม่ควรพูดล้อเล่น พูดคำหยาบและเรื่องไร้สาระรวมทั้งไม่พูดสนทนากับท่านในที่ลับตาสองต่อสองเพราะเป็นการผิดวินัยของพระสงฆ์ และก่อให้เกิดข้อครหาแก่บุคคลทั่วไป
2.2 การปฏิสันถารตามหลักปฏิสันถาร 2
คำว่า “ปฏิสันถาร” ได้แก่ การต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น, อาการเครื่องเผื่อแผ่, การต้อนรับปราศรัย มี 2 ประการได้แก่
1. อามิสปฏิสันถาร การปฏิสัณฐานด้วยอามิส ได้แก่ การต้อนรับด้วยปัจจัยสี่อย่างใดอย่างหนึ่งพอเหมาะพอควรแก่แขกผู้มาหา โดยความสุภาพเรียบร้อยสิ่งที่มนุษย์เกิดช่องว่างระหว่างกันและกันก็คือ เรื่องเกี่ยวกับปัจจัย 4 ได้แก่อาหารการบริโภค เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมเครื่องประดับต่างๆ เข้าด้วย ที่อยู่อาศัยรวมยวดยานพาหนะต่างๆ เข้าด้วย ยารักษาโรคมรวมเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ เข้าด้วย ความเป็นอยู่ของมนุษย์เราไม่เหมือนกัน บางคนอยู่ในสกุลหรือภูมิประเทศได้เปรียบอาจมีปัจจัย 4 เหล่านี้ใช้อย่างเหลือเฟือ ส่วนคนที่อยู่ในสกุลหรือภูมิประเทศอันเสียเปรียบอาจมีปัจจัย 4 เหล่านี้น้อยหรือหาไม่ได้เลย ถ้ามนุษย์เราไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เข้าทำนองที่ว่า “คนรวยก็รวยเหลือล้น คนจนก็จนเหลือหลาย” ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างมนุษย์ด้วยกันอย่างมากมายจนกลายเป็นแบ่งชนชั้นแตก แยกบาดหมาง ไม่มีทางประนีประนอมกันได้ เกิดการยื้อแย่งแข่งขันเบียดเบียน ปล้นสดมภ์เข่นฆ่ากันอย่างกว้างขวาง หาความสงบสุขไม่ได้ ฉะนั้น คนรวยจึงต้องสงเคราะห์เกื้อกูลคนจนด้วยปัจจัย 4 ตามสมควร อย่าเป็นคนคับแคบเสวยสุขอยู่แต่ผู้เดียว อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบคนจนอยู่ทุกท่า แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จะเข้าตำราที่ว่า “ยิ่งรวยก็ยิ่งคับแคบ ยิ่งรวยก็ยิ่งงก ยิ่งรวยก็ยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งรวยก็ยิ่งเอาเปรียบคนอื่น” ถ้าสังคมมีบุคคลประเภทนี้มากความสงบสุขจะมีไม่ได้เลย
รวม ความว่า อามิสสปฏิสันถาร หมายถึง การให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน การต้อนรับปราศรัยด้วยใช้พัสดุสิ่งของเหมาะแก่ความต้องการ โดยควรแก่ฐานะของแขกผู้มาหา
2. ธัมมปฏิสันถาร การปฏิสันถารด้วยธรรม ได้แก่ การต้อนรับด้วยพูดจาปราศรัย ด้วยคำพูดที่สุภาพอ่อนโยน และคำพูดที่อ่อนหวาน และประกอบด้วยประโยชน์
มนุษย์เรายามประสบเคราะห์กรรมมีทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ ย่อมต้องการที่พึ่งทางใจ หากเราไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือได้ทางปัจจัย 4 เพราะเราก็อยู่ในสภาพเดียวกับเขา แต่เรามีกำลังใจดีกว่าเขา รู้วิธีแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่าเขา เราจะนิ่งเฉยดูความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์โดยไม่ช่วยเหลืออะไรเลยนั้นไม่ได้ ที่ถูกต้องใช้ธรรมเป็นเครื่องปลุกปลอบใจเขา และข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิตให้เขาอยู่รอดปลอดภัยพ้นจากเคราะห์กรรมต่างๆ นั้น
การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างนี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ปฏิสันถาร” แปลว่า การอุดรูรั่วต่างๆ ระหว่างตนกับคนอื่น ก่อให้เกิดสามัคคีธรรมขึ้นระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ลบล้างรอยแตกแยกความร้าวฉานให้หมดสิ้นไป มีความคิดเห็นตรงกันแม้จะมีฐานะต่างกันก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสงบ
มารยาทชาวพุทธ
สาระสำคัญ
มารยาทชาวพุทธ เป็นการแสดงออกที่มีแบบแผน ในการประพฤติปฏิบัติ ซึ้งเป็นแนวปฎิบัติที่ทำให้สมาชิกในสังคม สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างดี โดยเฉพาะมารยาทชาวพุทธที่หล่อหลอมมาจาก หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา เป็นกริยาวาจาที่บุคคลในสังคมพึงปฎิบัติต่อกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม จนนับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางศาสนา ที่มีลักษณะเฉพาะของชาวพุทธในประเทศไทย แม้จะไม่สำคัญเท่าหลักธรรมคำสอนโดยตรง แต่ก็มีส่วนในการสร้างความรัก ความสามัคคี อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของสังคมไทย ที่คนไทยทุกคนควรประพฤติปฏิบัติและสืบทอดต่อไป
เนื้อหา
มารยาทชาวพุทธ
1. มารยาทในสังคม
2. มารยาทในการแต่งกาย
3. มารยาทในการยืน
4. มารยาทในการเดิน
5. มารยาทในการนั่ง
6. มารยาทในการไหว้
7. มารยาทในการกราบ
8. มารยาทในการใช้กิริยาวาจา
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
1. อธิบายมารยาทในสังคม การแต่งกาย การยืน การเดิน การนั่ง การไหว้ การกราบและการใช้กิริยาวาจาได้
2. สามารถปฏิบัติตน ในการมีมารยาทสังคม แต่งกาย ยืน เดิน นั่ง ไหว้ กราบและใช้กิริยาวาจาได้ถูกต้องเหมาะสม
มารยาทในสังคม
มารยาท1 คือ การแสดงออกที่มีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติโดยได้รับการอบรมให้งดงามตามความนิยมแห่งสังคมมารยาท ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่ได้มาจากสิ่งแวดล้อม มีการศึกษา อบรมเป็นสำคัญ ดูกิริยา ฟังวาจาของคนแล้ว พอคาดได้ว่าผู้นั้นได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างไรพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมารยาท คือ ความสุภาพและสำรวม คนสุภาพจะเป็นคนที่มีจิตใจสูงเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคนที่มีอะไรในตัวเองแล้วจึงจะสุภาพอ่อนน้อมได้ ความสุภาพอ่อนน้อมมิได้เกิดจากความเกรงกลัวแต่ถือว่าเป็นความกล้า ส่วนความสำรวม คือ การเป็นคนมีสติ ไม่พูดไม่ทำอะไรที่เกินควร รู้จักการปฏิบัติที่พอเหมาะพองาม คิดดีแล้วจึงทำ คาดแล้วว่าการกระทำจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย มิใช่เฉพาะตัวคนเดียว
มารยาทแสดงออกมาที่กิริยาท่าทางและการพูดจา อาศัยการบอกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฝึกเองจนเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ คนดีมารยาทดีเท่ากันแต่อาจไม่เหมือนกัน เพราะคนมีบุคลิกภาพต่างกัน การแสดงออกย่อมต่างกันด้วย มีตัวร่วม คือ แสดงออกมาแล้วเป็นผลดีแก่ตัว เพราะทำให้ผู้อื่นพอใจด้วยรู้สึกว่าได้รับเกียรติ เมื่อให้เกียรติแก่ผู้อื่น ตนเองก็จะเป็นผู้มีเกียรติด้วย สังคมใดมีคนแสดงมารยาทดีต่อกัน สังคมนั้นเป็นสังคมของผู้มีเกียรติ
มารยาทในการแต่งกาย
การแต่งกายแสดงถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม แล้วยังแสดงถึงอุปนิสัยใจคอ จิตใจ รสนิยม ตลอดจนการศึกษาและฐานะของแต่ละบุคคลได้เป็นอย่างดี การแต่งกายของผู้ที่อยู่ในสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีหลักสำคัญที่ควรปฏิบัติ2 ดังนี้
1. ความสะอาด ต้องเอาใส่เป็นพิเศษโดยเริ่มต้นด้วยเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า เครื่องประดับ กระเป๋าถือ ต้องสะอาดหมด ใช้เครื่องสำอางค์แต่พอควรและร่างกาย ก็ต้องสะอาดทุกส่วนตั้งแต่ ผม ปาก ฟัน หน้าตา มือ แขน ลำตัว ขาและเท้าตลอดจนถึงเล็บ รวมไปถึงกลิ่นตัวที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ต้องอาบน้ำฟอกสบู่ให้หมดกลิ่นตัว ถ้าทำได้ทุกส่วน ก็ถือว่าสะอาด
2. ความสุภาพเรียบร้อย คือ เครื่องแต่งกายนั้นต้องอยู่ในลักษณะสุภาพเรียบร้อย ไม่รุ่มร่ามหรือรัดตัวจนเกินไป ไม่ใช้สีฉูดฉาด ควรแต่งให้เข้ากับสังคมนั้น ความสุภาพเรียบร้อยนั้นรวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องประดับและการแต่งหน้าแต่งผมด้วย
3. ความถูกต้องกาลเทศะ การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ เป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้มีมารยาทดีย่อมต้องเอาใจใส่ เพราะการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ หมายถึง การเลือกแต่งกายให้ถูกต้องเหมาะสมกับเวลายุคสมัยนิยมและสถานที่
ข้อควรปฏิบัติในการแต่งกาย
1. ให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่จะไป เช่น งานมงคลก็ควรใส่สีสดใส งานอวมงคล ถ้าเป็นงานศพก็ควรใส่สีดำ เป็นต้น
2. ให้เหมาะสมกับความสำคัญของงาน เช่น งานระหว่างเพื่อนฝูง งานรัฐพิธี ถ้าเป็นงานศพ ก็ต้องดูว่าเป็นงานศพทั่วไปหรืองานศพพระราชพิธี
3. ให้เหมาะสมกับเวลา เช่น เป็นงานราตรีสโมสรหรืองานกลางคืนธรรมดา
4. ให้เหมาะสมกับฐานะและหน้าที่ เช่น เป็นครู เป็นนักร้อง เป็นหัวหน้า เป็นคนรับใช้
5. ให้เหมาะสมกับวัย เช่น เป็นคนมีอายุก็ไม่ควรแต่งเป็นวัยรุ่นเกินไปเป็นเด็กก็ไม่ควรแต่งให้เป็นผู้ใหญ่เกินไป
6. ให้เหมาะสมกับยุคและสมัยนิยม ไม่นำสมัยเกินไปหรือล้าสมัยเกินไป
7. พึงแต่งกายให้สมเกียรติกับงานที่ได้รับเชิญ
มารยาทในการยืน
1. การยืนตามลำพัง
การยืนตามลำพังจะยืนแบบใดก็ได้แต่ควรจะอยู่ในลักษณะสุภาพ สบายโดยมีส้นเท้าชิด ปลายเท้าแยกเล็กน้อยหรืออยู่ในท่าพัก ปล่อยแขนแนบลำตัว ไม่หันหน้าหรือแกว่งแขนไปมา จะยืนเอียงได้บ้างแต่ควรอยู่ในท่าที่สง่า
2. การยืนเฉพาะหน้าผู้ใหญ่
การยืนต่อหน้าผู้ใหญ่ ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรยืนตรงหน้าผู้ใหญ่ ควรยืนเฉียงไปทางใดทางหนี่ง ทำได้ 2 วิธี คือ
2.1 ยืนตรง ขาชิด ส้นเท้าชิด ปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย มือสองข้างแนบลำตัวหรือประสานกันไว้เบื้องหน้าใต้เข็มขัดลงไป ท่าทางสำรวม
2.2 ยืนตรงค้อมส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไปเล็กน้อย มือประสานไว้ข้างหน้า ท่าทางสำรวมการประสานมือ ทำได้ 2 วิธี คือ คว่ำมือซ้อนกัน จะเป็นมือไหนทับมือไหนก็ได้หรือหงายมือทั้งสอง สอดนิ้วเข้าระหว่างร่องนิ้วของแต่ละมือ การยืนเฉพาะหน้าผู้ใหญ่จะใช้จนถึงการยืนเฉพาะหน้าที่ประทับ การค้อมตัวจะมากน้อยย่อมสุดแล้วแต่ผู้ใหญ่ ถ้ามีอาวุโสหรือเป็นที่เคารพสูง ก็ค้อมตัวมาก
มารยาทในการเดิน
1. การเดินตามลำพัง
ควรเดินอย่างสุภาพ ไหล่ตั้ง หลังตรง ช่วงเท้าไม่ยาวหรือสั้นเกินไปแกว่งแขนพองาม สตรีควรระมัดระวังสะโพกให้อยู่ในลักษณะที่เป็นไปโดยธรรมชาติ
2. การเดินกับผู้ใหญ่
ควรเดินเยื้องไปทางซ้ายหลังผู้ใหญ่ ห่างกันพอประมาณตามสภาพของสถานที่แต่ให้อยู่ในลักษณะนอบน้อม
3. การเดินผ่านผู้ใหญ่
ในกรณีที่ผู้ใหญ่ยืนอยู่ ให้เดินค้อมหัวผ่านมากน้อยตามอาวุโส ถ้าผู้ใหญ่ทักทาย ให้หยุดยืนน้อมกายลงพูดด้วย เมื่อจบแล้วให้ไหว้ครั้งหนี่งแล้วน้อมตัวเดินผ่านไป
ถ้าผู้ใหญ่นั่งพื้นหรือนั่งเก้าอี้ให้เดินเข่าผ่าน เมื่อผู้ใหญ่ทักทายให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้าพูดด้วย เมื่อจบแล้วให้กราบ 1 ครั้ง แล้วเดินเข่าผ่านไป
4. การเดินสวนกับผู้ใหญ่
ควรน้อมตัวเมื่อผ่านใกล้ จะค้อมตัวมากน้อยก็ขึ้นอยู่กัยอาวุโส ในกรณีที่เป็นทางแคบ ๆ ควรหยุดยืนในอาการสำรวมให้ผู้ใหญ่ผ่านไปก่อน
5. การเดินผ่านหลังผู้อื่น
ควรอยู่ในกริยาสำรวม ค้อมตัวลงขณะเดินผ่าน มือสองข้างแนบลำตัว ถ้าเดินผ่านอย่างใกล้ชิดและเป็นผู้อาวุโสมากให้ค้อมตัวและไหว้พร้อมกับกล่าวคำขอโทษก่อนจะเดินผ่าน
6. การเดินเข้าสู่ที่ชุมชน
ควรเดินเข้าไปอย่างสุภาพ ก้มตัวตามอาวุโส อย่าให้เสื้อผ้าไปกรายผู้อื่นเลือกที่นั่งตามเหมาะสม ถ้าเป็นสถานที่นั่งกับพื้น ต้องผ่านระยะใกล้มากให้ใช้เดินเข่า
มารยาทในการนั่ง
1. การนั่งเก้าอี้
ควรนั่งตัวตรงหลังพิงพนักเก้าอี้ เท้าชิด เข่าชิด มือวางบนหน้าขาหรือพาดบนที่เท้าแขนเก้าอี้ก็ได้ไม่ควรโยกเก้าอี้ไปมา ผู้หญิงควรระมัดระวังเครื่องแต่งกายไม่ให้ประเจิดประเจ้อ
2. การนั่งกับพื้น
ควรนั่งพับเพียบในลักษณะสุภาพ ผู้หญิงถ้าเท้าแขนก็อย่าเอาท้องแขนออกข้างหน้า ผู้ชายไม่ควรนั่งเท้าแขน
มารยาทในการไหว้
การไหว้3 คือ อริยาบถที่มือทั้งสองข้างประนมนิ้วชิดกัน ปลายนิ้วจดกันไม่เอาปลายนิ้วออกจากกัน การไหว้มีหลายแบบ คือ
1. การไหว้พระสงฆ์
เมื่อพนมมือแล้ว ให้ยกมือที่พนมขึ้นจรดหน้าผาก ให้ปลายหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้วค้อมศีรษะ ลงให้ปลายนิ้วจรดต้นผม แนบมือให้ชิดหน้าผาก ค้อมตัวให้มาก ผู้ชายให้ยืนส้นเท้าชิด ปลายเท้าแยกเล็กน้อย ผู้หญิงให้ก้าวขาขวาออกไปข้างหน้าเล็กน้อยแล้วย่อตัวไหว้
2. การไหว้บิดามารดา ครูอาจารย์และญาติผู้ใหญ่4
ให้พนมมือยกขึ้นจนนิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว ผู้ชายค้อมตัวลงเล็กน้อย ผู้หญิงก้าวขาขวาไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วย่อตัวลงแต่พองาม
3. การไหว้ผู้ที่เคารพนับถือทั่วไป
ให้พนมมือเอาปลายนิ้วแม่มือจรดปลายคาง นิ้วชี้จรดปลายจมูกก้มหน้าเล็กน้อยพองาม
4. การรับไหว้
ให้พนมมือยกขึ้นมาอยู่ที่ระดับอก ปลายนิ้วอยู่ระหว่างปลายคางก้มหน้าเล็กน้อย
มารยาทในการกราบ
1. การกราบบุคคล
การกราบเริ่มจากการนั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า ค้อมตัวลงหมอบให้เข่าข้างหนึ่งอยู่ระหว่างแขนทั้งสองข้าง วางแขนทั้งสองกราบลงกับพื้นตลอดครึ่งแขนจากศอกถึงมือ พนมมือวางลงกับพื้นแล้วก้มศีรษะลงให้หน้าผากแตะสันมือทำครั้งเดียวไม่แบมือ แล้วทรงตัวขึ้นนั่ง
2. การกราบพระพุทธรูป พระสงฆ์
การกราบพระพุทธรูปและพระสงฆ์ เรียกว่า การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ซึ่งประกอบด้วยเข่าทั้งสอง ศอกทั้งสองและหน้าผากหนึ่งรวมเป็นห้าโดยมีลำดับขั้นการปฏิบัติ ดังนี้
จังหวะที่ 1 ผู้ชาย นั่งท่าพรหม เข่ายันพื้นห่างกันพอควร ปลายเท้าตั้งชิดกัน นั่งทับส้น ผู้หญิง นั่งท่าเทพธิดา เข่ายันพื้นในลักษณะชิดปลายเท้าราบไปกับพื้น หงายฝ่าเท้า นั่งทับส้นชายและหญิงประนมมือระหว่างอก เรียกว่า ท่าอัญชลี
จังหวะที่ 2 ยกมือที่ประนมขึ้นพร้อมกับก้มศีรษะลงรับมือเล็กน้อย หัวแม่มือจรดตรงกลางหน้าผาก ปลายนิ้วชี้จะสูงกว่าศีรษะ เรียกว่า ท่าวันทา
จังหวะที่ 3 ผู้ชายก้มลงกราบโดยทอดศอกให้แขนทั้งสองข้างลงพื้นพร้อมกับให้ข้อศอกทั้งสองข้างต่อกับหัวเข่า คว่ำมือทั้งสองแนบราบกันพื้น ให้นิ้วทั้ง 5 ชิดกัน มือทั้งสองวางห่างกันเล็กน้อย หน้าผากจรดพื้นในระหว่างมือทั้งสองข้างได้ ผู้หญิงก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่เวลาก้มลงกราบหน้าผากจรดพื้นแล้วให้ศอกคร่อมหัวเข่า ไม่ต่อกับหัวเข่าแบบชาย ท่านี้เรียกว่า ท่ากราบ
การกราบเบญจางคประดิษฐ์ต้องทำติดต่อกัน 3 ครั้งแล้วทรงตัวขึ้นยกมือประนมจรดหน้าผากอีกครั้งหนี่ง เรียกว่าจบแล้วลดตัวนั่งในท่าปกติ
มารยาทในการใช้กิริยาวาจา
กิริยาวาจา คือ การแสดงออกของวาจาที่สมบูรณ์ วัฒนธรรมไทยนิยมให้คนสงบเสงี่ยมทั้งกิริยาและวาจาจะโกรธจะเกลียด จะรักท่านไม่ให้แสดงออกนอกหน้า ดังนั้นการแสดงซึ่งกิริยาวาจา ต้องได้รับการควบคุม จึงจะสื่อความหมายตามความประสงค์ของผู้แสดงได้ดี ภาษาไทยมีลักษณะพิเศษ ที่ใช้กับบุคคลที่สูงกว่าตนก็ใช้อย่างหนึ่ง ใช้กับบุคคลเท่ากันหรือต่ำกว่าใช้อีกอย่าง หนี่ง ความยากอยู่ตรงที่การประเมินว่าใครสูงใครต่ำกว่าตน ถ้าไม่แน่ใจควรเลือกทำที่สูงไว้ก่อนเพื่อให้เกียรติผู้ที่เราพูดด้วยเมื่อพูดกับใครควรแสดงกิริยาวาจาให้เกียรติเขา เพราะเมื่อเราให้เกียรติใครมิใช่ว่าเกียรติของเราจะหมดเปลืองไป อาจได้รับเกียรติกลับมาพร้อมกับความรู้สึกที่ดีก็ได้
มารยาทในกิริยาวาจาจำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ต่อไปนี
1. การทักทาย มักนิยมกล่าวคำว่า สวัสดี พร้อมกับไหว้ ซึ่งเป็นการทักทายที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย6
2. การไปพบผู้ใหญ่ ควรจะขออนุญาตเข้าพบ เมื่อพบแล้วก็ทักทายด้วยกิริยาวาจาพินอบพิเทา สุภาพใช้คำแทนตัวเองและผู้ใหญ่ให้เหมาะสม เช่น ผม กระผม ดิฉัน ท่าน คุณ แล้วใช้คำรับให้เหมาะสมด้วย เช่น ครับ ค่ะ
3. การปฏิบัติตัวในสถานที่ทำงาน การใช้กิริยาวาจาจะมีผลต่อความรู้รักสามัคคี การใช้วาจาสุภาพ มิใช่แค่ใช้ถ้อยคำในภาษาให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ต้องมีน้ำเสียงที่น่าฟัง อ่อนโยน มีลีลาจังหวะในการใช้ภาษา มีคำลงท้ายที่แสดงความนับถือ รักษาน้ำใจผู้อื่น ไม่ควรพูดซุบซิบนินทาเพราะจะทำให้แตกความสามัคคีได้
4. การปฏิบัติตนในที่ประชุม ควรใช้กิริยาวาจาที่สุภาพใช้คำพูดถูกต้องตามหลักภาษาไทยไม่เยิ่นเย้อวกวน ไม่ส่งเสียงตะโกน ไม่พูดอวดเก่ง ไม่พูดอย่างเหน็บแนม ไม่พูดคุยกันเอง ถ้าเป็นผู้แสดงความคิดเห็นก็ควรพูดให้ตรงประเด็นรักษาเวลา เคารพกติกาของที่ประชุมนั้น ๆ


0 ความคิดเห็น: